ขับเคลื่อนโดย Blogger.

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ภาพถ่ายพระเมรุ - สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ



สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี

พระประสูติกาล
ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียรพระบรมมหาราชวัง ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนัก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานซึ่งอยู่ติดกับพระที่นั่งเทพสถานพิลาส สมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๖ ทรงมีโอกาส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในวันพุธที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต ในวันรุ่งขึ้น


สิ้นพระชนม์
ในบั้นปลายพระชนมชีพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯประชวรด้วยพระโรคหลอดเลือดสมอง และทรงพระชราครั้นวันพุธที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้เสด็จไปประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ ตึก ๘๔ ปี ชั้น ๕ โรงพยาบาลศิริราช พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับและสิ้นประชนม์เมื่อเวลา ๑๖.๓๗ น. ของวันพุธที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ รวมพระชมมายุ ๘๔ พรรษา

การพระศพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละออกธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวาย ๑๐๐ วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง ในวันจันทร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๕ อีกทั้งมีการจัดงานภาคประชาชน พิธีถวายดอกไม้จันทน์ตามซุ้มรอบมณฑลพระราชพิธี และสถานที่กำหนดในเขตต่างๆของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนทุกจังหวัดทั่วประเทศถวายพระเกียรติยศเต็มที่ตามที่ทรงดำรงอยู่ทุกประการ


ด้วยเหตุนี้แหล่ะ จึงได้ไปเที่ยวชม และถ่ายภาพพระเมรุ มาให้ชมกันครับ

พระเมรุ ๑

พระเมรุ ๒

พระเมรุ ๓

มีรถประดับไฟแปลกๆมาจอด ผู้คนให้ความสนใจถ่ายรูปจำนวนมาก
ภาพนี้ใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำ ทำให้มองเห็นผู้คนน้อยหน่อย

ใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำ แต่คุณผู้หญิงชุดดำเล่นไม่ขยับไปไหน จึงถ่ายติดเธอ

พระเมรุ

ภาพทั้งหมด ใช้ขาตั้งกล้อง ISO100 ถ่ายด้วยสปีดชัตเตอร์ตามที่วัดแสงได้

มีคนอื่นใช้ฟิลเตอร์ ND ของ Lee ติดที่หน้าเลนส์แล้วฟิลเตอร์รุ่นนี้จะยึดแผ่นฟิลเตอร์ได้ไม่ค่อยแน่น ทั้งที่มีราคาสูงมาก แผ่นละประมาณ 5,000 บาท เห็นเขาก็เสียบกับกล้องและไม่มีใครไปโดน ลมก็ไม่ได้แรงอะไร ฟิลเตอร์เลื่อนหล่นพื้น ดัง"เพ้งงง" แตกยับเลยครับ

ถ้าใช้ฟิลเตอร์แผ่นแบบ ND ลองตรวจเช็คความแน่นของแผ่นฟิลเตอร์ด้วยนะครับ เสียดายเวลามันหล่นแตก ถ้ามันไม่แน่น ลองใช้ กระดาษกาว หรือเทปกาว ติดที่ด้านข้างของฟิลเตอร์ เพื่อเสริมให้มันหนาขึ้น อย่าติดแบบแผ่นหนากินพื้นที่เข้ามาในเลนส์เวลาถ่ายภาพ แต่วิธีนี้แกะออกมาก็จะมีกาวติดฟิลเตอร์บ้างทำให้ขายแล้วอาจจะเสียราคาบ้างนะครับ



ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ สวัสดี GoodLight ^_^

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

Ayutthaya - Amazing

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพถ่ายหน้าเบี้ยว

วันนี้ขอโพสภาพถ่ายแปลกๆ 1 ภาพครับ


แล้วเดี๋ยวมาเฉลยว่าถ่ายอย่างไร   ลองเดากันดูครับ


เทคนิคการถ่ายภาพแปลกๆ


^_^

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

การวัดแสงธรรมดา - กับการใช้แฟลช

สวัสดีครับ วันนี้จะขอพูดถึงความแตกต่างของ การวัดแสงแบบธรรมดา กับ การใช้แฟลชครับ

บางท่านอาจจะเคยอ่านการวัดแสงมาบ้างแล้ว มีพูดถึงกันเยอะแยะ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง : ช่างมัน

แต่เมื่อท่านจะใช้แสงแฟลช ก็จะงง ว่าอะไรกัน ไม่เห็นเข้าใจ ผมพบปัญหานี้เยอะครับ และเป็นเรื่องที่รายละเอียดเยอะ  แต่จะขออธิบายง่ายๆให้เข้าใจกันนะครับ
การวัดแสงเมื่อถ่าย เวลาไม่ใช้แฟลช ก็คือ ดูค่าแสงณเวลานั้น บริเวณที่เราต้องการถ่ายภาพก็จะได้ ค่ามาสองค่า คือรูรับแสง(aperture value) กับ ความเร็วชัตเตอร์(speed shutter) ในกรณีที่ท่านเลือกโหมด M (Manual) เราก็เป็นคนกำหนดสองค่านั้นแล้ว ฉะนั้นกล้องจะบอกแค่ว่า มันพอดี หรือมืด หรือสว่างไป(under or over exposure), เมื่อท่านเลือกโหมต AV(canon) หรือ A(nikon) เราก็ควบคุม รูรับแสงอย่างเดียว  กล้องจะวัดแล้วปรับ ความเร็วชัตเตอร์ให้อัตโนมัติ ซึ่งเราสามารถปรับชดเชยแสงได้,
เมื่อท่านเลือกโหมด TV(canon) หรือ S(nikon) ท่านก็จะควบคุมความเร็วชัตเตอร์ แล้วกล้องจะปรับรูรับแสงให้อัตโนมัติ ซึ่งเราสามารถปรับชดเชยแสงได้  แค่นี้เองครับ หลักง่ายๆ

ต่อมาคือการใช้แฟลช

การใช้แฟลชพูดได้เลยว่าไม่เกี่ยวกับการวัดแสงโดยตรงนะครับ วัดแสงมันก็คือค่าแสงที่เข้ากล้องคือแสงธรรมชาติ หรือแสงต่อเนื่องในขณะนั้นนะครับ แต่แสงแฟลชต่างออกไปคนละเรื่องเลยครับ
กล่าวคือ แสงแฟลชจะมีสองระบบหลักๆ
1. TTL มีหลายแบบ ATTL, ETTL ฯลฯ มันคือการที่แสงแฟลชจะยิงไปที่วัตถุ แล้วเมื่อแสงแฟลชพอดีมันจะตัดไฟแฟลชทันที ซึ่งชื่อต่างๆ คือการที่เขาคิดวิธีให้การยิงแสงแฟลชแม่นที่สุด แต่ก็เป็นแสงแฟลชผ่านเข้ามาในกล้อง และตัดไฟแฟลชทิ้งเมื่อแสงพอดี เช่นกัน และเมื่อมีหลายยี่ห้อของกล้องและแฟลช จึงมีหลายชื่อ ต่างกันไป

2.แฟลชแบบปรับกำลังแฟลชเอง คือเอาเลือกปรับเองว่าจะแรง-อ่อนแค่ไหน ตัวแฟลชก็จะยิงเท่าที่เราตั้งตลอดเวลา ซึ่งต้องผ่านการคำนวณ ระยะ, ISO, ฯลฯ หรือลองดูแล้วก็เช็ค histogram เอาก็ได้ครับ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็นิยมแบบนี้มากขึ้น คือมั่วๆไปก่อน แล้วดูจาก LCD ในกล้อง เมื่อแสงพอดีแล้วก็ตั้งค่านี้ สะดวกรวดเร็วดี แต่ต้องเสียเวลากับการปรับแฟลชอยู่พักนึง

ฉะนั้นเมื่อเราดันเลือกโหมด AVหรือ S (หรืออื่นๆตามแต่ละยี่ห้อ) ถ้าถ่ายตอนกลางวัน มันก็สว่างดี ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วพอภาพจะคมชัดได้  แต่ถ้าเราถ่ายในที่มืดๆล่ะครับ  - แน่นอนว่า มันก็จะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ เพราะมันวัดจากแสงธรรมชาติ (แสงแฟลชจะยิงมาแค่แว๊บเดียว และไม่ได้ยิงตอนเราวัดแสง)เมื่อถ่ายภาพ แสงที่ได้อาจจะพอดี สว่างเหมือนกลางวัน แสงแฟลชก็ยิงไปพอดี แต่ภาพไม่ชัด เพราะความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำไงล่ะครับ

เพื่อเสริมความเข้าใจมากขึ้น ถ้าเราถ่ายภาพคนที่อยู่ในที่ร่ม เช่นใต้ตึก แต่ข้างหลังเป็นแดดจ้านอกอาคาร อย่างนี้ หมายความว่าแสงที่ฉากหลัง จะสว่างมาก แต่แสงคนที่อยู่ใต้ตึกจะมืดกว่ามาก ถ้าเราถ่ายโดยวัดแสงที่ฉากหลัง ฉากหลังก็จะสวยงามพอดี แต่หน้าคนจะมืด
แต่ถ้าเราถ่ายโดยวัดแสงที่หน้าคน หน้าคนจะสว่างถูกต้อง แต่ฉากหลังก็จะสว่างขาวโพลน แต่ถ้าท่านต้องการให้แสงพอดี ทั้งข้างหน้า และข้างหลัง ทำอย่างไรล่ะครับ :)

ก็ต้องวัดแสงที่ฉากหลัง แล้วจำค่านั้น หรือล็อคค่าไว้(อ่านวิธีในคู่มือกล้องของท่าน) จากนั้นใช้แฟลชยิงที่หน้าคนให้ได้แฟลชพอดี อย่างนี้ก็จะได้แสงที่พอดีทั้งฉากหน้า และฉากหลัง

แต่ถ้าต้องการ ฉากหลังมืดกว่าตัวแบบ ก็ต้องวัดที่ฉากหลังอีกเช่นกัน แล้วชดเชยแสงให้ under (-1,-2,-3,ฯ) แต่แสงแฟลชยิงพอดี ฉากหลังก็จะมืดกว่าตัวคนแล้วครับ

แต่ถ้าต้องการฉากหลังสว่างกว่า ก็ดูหน้า ฉากหลังกับตัวคนอันไหนสว่างกว่ากัน ถ้าฉากหลังสว่างกว่าอยู่แล้ว ก็แทบไม่ต้องทำไร ใช้วัดที่หน้าคนเลยก็ได้ หรือวัดแสงที่ฉากหลังแล้วปรับ over(+1,+2,+3,ฯ) ส่วนแสงแฟลชปรับให้พอดี เท่านั้นเองครับ


ปัญหาต่อมาคือ ทำไมแฟลชมีปรับชดเชยแสงด้วย จำเรื่อง TTL ได้ไหมครับ ที่แสงจะกระทบแล้วเข้ามาที่กล้องแล้วก็ตัดแสงทิ้ง   ฉะนั้น เมื่อแฟลชมันไปยิงใส่เสื้อสีดำ การสะท้อนแสงก็ย่อมน้อยผิดปกติอยู่แล้ว กว่าแสงแฟลชจะตัด ก็ทำให้ภาพออกมา แสงแฟลชมัน ก็จะ over ไงครับ ฉะนั้น จึงต้องปรับไปทาง under (-1,-2,-3,ฯ)

ภาพนี้ไม่ได้เปิดแฟลช
ภาพนี้เปิดแฟลช

จากภาพตัวอย่างทั้งสองภาพ จะเห็นว่าภาพฉากหลัง หรือท้องฟ้าจะใกล้เคียงกันมาก เพราะใช้ค่าแสงที่วัดเท่าๆกัน แต่ภาพล่างเปิดแฟลชยิงไปที่เรือด้วย ทำให้เห็นเรือสว่างกว่า และฉากท้องฟ้าด้านหลัง ก็ยังคงสว่างเช่นเดียวกันครับ




ตอนแรกคิดว่าจะพิมพ์แค่สั้นๆ เอาเข้าจริงๆ ก็ต้องอธิบายยาว หวังว่าจะเข้าใจกันนะครับ

แดดร้อนรักษาสุขภาพ มีความสุขกับการถ่ายภาพ และคอมเม้นท์กันบ้างนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพถ่ายมือทะลุจอ

วันนี้ยุ่งๆ ไม่ได้อัพบล็อค(เว็บ) เลยครับ อีกทั้งความยุ่งทำให้คิดไม่ออกว่า จะเขียนอะไรดี เรื่องไหนก่อนดีอากาศด้วย แทบจะไม่อยากทำอะไร(พิมพ์บทความนี้ 3 รอบ พอพิมพ์เร็วๆแล้วเปลี่ยนภาษา มันเน่าไปเลย ต้องมาพิมพ์ใหม่อีก)

เมื่อมาเช็คดู ก็พบว่ามีคนเข้ามาแล้วคงเห็นว่าไม่มีอะไรอัพเดตจึงปิดออกไปเลย จึงสงสัยว่าคงเริ่มมีคนสนใจเว็บหรือบล็อคนี้บ้างแล้ว จึงต้องหาเรื่องเขียน

วันนี้ขอเรื่องนี้แล้วกัน เริ่มด้วย ภาพถ่ายนี้ครับ อิอิ

ภาพถ่าย 1


เป็นรูปภาพแปลกๆไหมครับ เหมือนมือมันทะลุเข้าไปในจอ น่าจะชอบใจกันนะครับ เพราะเอาไปเล่นได้ ยังไม่ค่อยเห็นในสังคมออนไลน์ด้วย

เล่าเรื่องที่มาหน่อยนึง ภาพนี้เพื่อนผมฝากผมซื้อหวย แต่ผมไม่ได้เล่นนะครับ เล่นทีไรไม่เคยถูก เสียเงินทุกที อิอิ เมื่อเพื่อนฝากซื้อมาผมจึงถ่ายรูปนี้ไว้เล่นๆ กะเป็นหลักฐานด้วยว่าเล่นเลขนี้นะ ไม่ได้ผิดนะ

วิธีการถ่าย ไม่ยากเลยครับแต่หลายขั้นตอนหน่อยนึง
ขั้นแรกให้ปิดไอคอนที่เดสท็อป(icon on desktop)ออกให้หมด และย่อหน้าโปรแกรมลงมาให้หมด (ความจริงไม่ทำก็ได้ครับ แต่หน้าจอโล่งๆ น่าจะน่าสนใจกว่า)

ขั้นต่อมา เอามือมาถ่ายรูปอย่างนี้
ภาพถ่าย 2

ถ่ายยังงี้เปล่าๆเลยครับ (พิมพ์หน้านี้ครั้งที่ 4 แล้วเพราะพิมพ์เร็วเปลี่ยนภาษาเร็วๆ เน่าทุกทีเฮ้อ)

ขั้นต่อมาเมื่อได้ภาพอย่างนี้แล้ว โหลดลงคอมพิวเตอร์ครับ แล้วก็เปิดภาพมา แล้วต่อด้วยการเปิดโปรแกรมที่ต้องการครับ ให้อยู่ในฝ่ามือพอดี เสมือนเราจัดสิ่งนั้นอยู่ครับ

แล้วสามารถทำได้ สองวิธีคือ หยิบกล้องมาถ่ายใหม่ และ จัดภาพจากหน้าจอ

ถ้าจับภาพจากหน้าจอจะชัดกว่า สีสรรก็ดีกว่า เพราะเมื่อแสดงผลจากจอมันดรอปลงไปครับ ใช้ได้ทั้งสองวิธีนะครับ

จากนั้นก็จะได้ภาพสวยๆอย่าง ภาพถ่าย 1* แล้วครับ
เรียกว่าสวยไหมนะ เรียกว่าแปลกน่ะแน่นอนเลยครับ

ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพ และโชคดีได้แสงดีๆนะครับ

เมื่อท่านเยี่ยมชมแล้วโปรดคอมเม้นท์ ^_^

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพกลางคืนในรถ

สวัสดีครับ วันนี้จะโชว์รูปภาพที่ถ่ายกลางคืนในรถยนต์นะครับ   ก็จะได้ภาพที่แปลกตา เช่นนี้


ภาพถ่ายกลางคืนในรถ 1

แปลกๆตาดีไหมครับ หุหุ ลองดูอีกภาพ


ภาพถ่ายลักษณะนี้ ตัวรถจะชัดดี แต่นอกรถจะเป็นเส้นๆ แปลกตา เทคนิคการถ่ายภาพก็ง่ายๆครับ วางขาตั้งกล้องในรถ ยึดให้มั่นคงตั้ง ISO ต่ำไว้ สองภาพนี้ถ่ายด้วย ISO 100 วัดแสง แบบเฉลี่ยทั้งภาพ เสียบสายลั่นชัตเตอร์ แบบตั้งโปรแกรมได้ ก็ตั้งเวลาหน่วงไว้ แล้วก็เริ่มขับรถเลยครับ ภาพนี้ใช้ speed shutter ประมาณ 20-30 วินาที ก็จะได้ภาพสีสรรค์ แปลกตาอย่างนี้

ข้อควรระวัง ตั้งกล้องให้มั่นคงนะครับ เพราะรถต้องเคลื่อนไปตลอด อาจจะหล่นร่วงเกิดความเสียหายได้ และถ้าไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ ตั้งโปรแกรมต่างๆให้เรียบร้อยก่อนออกรถ ปรับโฟกัสให้เรียบร้อยก่อน แล้วจังหวะกดให้มั่นใจว่าปลอดภัยนะครับ ไม่เช่นนั้นจังหวะ เอื้อมไปกด อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ 

หวังว่าจะสนุกกับการถ่ายภาพ สวัสดี

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

การถ่ายภาพกลางคืน light paint

การถ่ายภาพกลางคืน มีด้วยกันหลายเทคนิค ที่จะสร้างสรรค์ภาพให้ดูน่าสนใจ

ภาพถ่ายกลางคืน
ภาพนี้ถ่ายเวลากลางคืน แทบจะมืดสนิท เป็นเครื่องลับใบมีด โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Light painting

โดยการใช้ไฟฉาย ฉายส่องไปที่วัตถุที่เราต้องการ เพื่อเพิ่ม รายละเอียดส่วนที่มืดให้สว่างขึ้นมาในภาพนะครับ







อุปกรณ์ที่ใช้


  • ขาตั้งกล้อง หรือถุงทราย อะไรก็ได้ วางให้มั่นคง
  • คนช่วยกด หรือสายลั่นชัตเตอร์ สำหรับ กดชัตเตอร์นานๆ (หรือชัตเตอร์B) 
  • ไฟฉาย
  • กระดาษแก้ว หรือกระดาษสี สำหรับเพิ่มสีสรรค์ให้ภาพโดยไม่ต้องใช้ photoshop
ภาพนี้มืดมาก แทบ
วัดแสงไม่ได้จริงๆ  วัดได้ก็เวลา นานมาก ก็ใช้กะเวลาว่าเราจะวาดแสงด้วยไฟฉาย ครบทั้งภาพที่ต้องการ ในเวลาประมาณเท่าไร
ลองฉายไฟฉายเพิ่มหาโฟกัส ปรับเป็นแบบ แมนน่วล (manual focus) เพราะระบบออโต้โฟกัสจะหาโฟกัสไม่เจอ เมื่อได้โฟกัส ลองถ่าย แบบ iso สูงๆ ซัก 2-3 ภาพ เพื่อดูภาพเบื้องต้น ดู composition ของภาพ

จากนั้นทำการถ่ายภาพ แล้วก็เริ่มใช้ไฟฉาย ฉายๆไปเรื่อยๆ  ภาพนี้ผมใช้กระดาษแก้วปิดที่หน้าไฟฉายด้วย เพื่อให้มีสีๆ อย่างที่เห็นในภาพนี้ครับ
ส่วนเวลาว่าจะฉายไฟฉายนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความแรงของไฟฉาย ระยะห่าง ซึ่งคำนวณได้ยาก ใช้ประสบการณ์เลยดีกว่าครับ

ลองถ่ายดู และหวังว่าจะสนุกกับมัน


แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพแสงไฟกลางคืน ตัวอย่างภาพจากวัดอรุณฯ




ภาพนี้ถ่ายเวลากลางคืน แสงจะน้อยมาก หยิบขึ้นมา อาจจะรู้สึกว่า วัดแสงไม่ได้ ผมใช้วิธีปรับ ISO ให้สูงๆไว้ เมื่อตั้ง ISO สูงๆ ก็จะสามารถวัดแสงได้ แต่ภาพนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ มืด แสงน้อยมาก(มีจะถ่ายให้เหมือนตอนกลางวันก็ทำได้) จึงต้องเลือกโหมดวัดแสงแบบเฉพาะจุด(ศึกษาจากคู่มือกล้องของท่าน)
แล้ววัดไปที่พระปรางค์เพราะส่วนนี้สำคัญที่สุด

เมื่อได้ค่าแสงออกมาแล้ว จำค่านั้นไว้ แล้วปรับ ISO ลง เพื่อลด noise ให้น้อยที่สุด ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนวัดแสงไม่ได้เหมือนเดิม เพราะ shutter speed จะเกิน 30 วินาที

ตรงนี้คือเทคนิคนึง ที่ให้จำค่าเดิมไว้ แล้วปรับจาก ISO สูงๆ ลงมา ISO ต่ำๆ เหลือเป็นกี่ STOP  (ไม่เข้าใจ ก็ใช้วิธี นับปุ่มเวลาเราปรับก็ได้ครับ บางรุ่นปรับ2 ครั้งคือ 1 STOP บางรุ่นปรับ 3 ครั้ง) โดยดูจากขีดที่บอกการชดเชยแสงก็ได้ครับ เมื่อได้จำนวน STOP แล้วเช่น 4 STOP ที่ Speed shutter 20 วินาที เป็นต้น

เมื่อเป็น 4 STOP ให้ คูณ 16 หรือ นำค่าเดิม คูณ 2 = 1 STOP
ในที่นี้ 40 วินาที คือ 1 STOP ที่ต้องรับแสงเพิ่มขึ้นจากการปรับ ISO ให้ต่ำลง
40 x 2 = 80 วินาที เป็น 2 STOP
80 x 2 = 160 วินาที เป็น 3 STOP
160 x2 = 320 วินาที เป็น 4 STOP

หรือนำสูตร 2 ยกกำลัง stop ได้ค่าเท่าไร เอาไปคูณเวลาเดิมครับ เช่น
4 STOP = 2 ยกกำลัง 4 = 16 นำ 16 x 20 ได้เท่ากับ 320 วินาที
3 STOP = 2 ยกกำลัง 3 = 8 นำ 8 x 20 ได้เท่ากับ 160 วินาที

ความจริงมันมีสูตรคำนวณเวลามากมายครับ แต่ใช้วิธีนี้ก็ได้ ง่ายกว่า สำหรับแสงน้อยๆ ผิดไม่กี่วินาที ไม่ต่างกันเท่าไร แต่หากเป็นเวลากลางวัน เราจะถ่ายที่ เสี้ยวของวินาที เช่น 1/250 วินาที เป็นต้น อันนั้นจะต่างกันมาก แต่อันนี้ หากมัวตบยุง หรือเล่น facebook มากดปิดที่ 330 วินาที หรือค่าอื่นๆ ก็ยังไม่มีปัญหาครับ

ส่วนค่ารูรับแสง (F/8, F/11) ก็เหมือนกันครับ ตอนแสงน้อย ปรับกว้างๆก่อนก็ได้ ให้วัดแสงได้ก่อน แล้วค่อยปรับอีกครั้ง ตามที่ต้องการ แล้วก็ดูว่าปรับจากเดิมกี่ STOP

ความจริงภาพนี้ แสงท้องฟ้า กับตัวพระปรางค์ต่างกันหลาย STOP น่าจะถ่าย 2-3 ภาพ แล้วใช้โปรแกรมในการรวมภาพอีกที ก็จะสวยกว่านี้ครับ จะได้ทั้ง พระปรางค์ และท้องฟ้าที่สวยงาม ส่วนทางขวามือ คือเรือที่วิ่งผ่านมาเข้าเฟรมพอดีครับ


วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

ว่าด้วยเรื่องการวัดแสงสำหรับถ่ายภาพ




พื้นฐานการถ่ายภาพที่สำคัญ - การวัดแสง

ถึงบอกว่าสำคัญ แต่หลายท่านที่ถ่ายภาพ และคิดว่าตัวเองถ่ายเป็น ที่ผมพบหลายๆคน และยังรับงานถ่ายภาพ เพื่อหารายได้ ก็ยังวัดแสงไม่เป็น 0_0  แต่ที่ถ่ายได้ เพราะ กล้องถ่ายภาพ ยิ่งทันสมัย ยิ่งราคาแพง ก็ยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้วัดแสงได้แม่นยำมากขึ้น  จนแทบไม่ต้องปรับอะไร

งั้นทำไมถึงบอกว่าสำคัญ เพราะบางสภาพแสง จะพบคนพวกนี้ ถ่ายอย่างไร ก็ไม่ได้ภาพที่ดี เพราะไม่เข้าใจเรื่องการวัดแสง เพื่อผมบางคนใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพ ราคาประมาณ2แสนบาท แต่พอไปเที่ยวด้วยกัน เขาถ่ายไม่ได้ภาพเลย จนต้องมาถามผม นี่ก็เพราะ ไม่เข้าใจวิธีวัดแสง 

ถ้าแสงธรรมดา เช่น ไม่ย้อนแสง แสงอาทิตย์ อยู่ด้านหลัง วัตถุที่ถ่าย ไม่มีอะไรพิเศษ* ก็คงถ่ายได้ โดยไม่ต้องปรับตั้งค่าอะไร แต่นอกเหนือจากที่บอก ก็คงเห็นความแตกต่าง ของคนเข้าใจการวัดแสง และไม่เข้าใจ รวมถึงเวลาที่ต้องเสียไป กับภาพที่ถ่ายใน shot แรกๆ แล้วไม่ได้อย่างที่ต้องการ ต้องมาปรับๆๆอีก

การวัดแสง มี 2 แบบ 
1. วัดแสงตกกระทบ : คือแสง ตกที่อุปกรณ์ สำหรับวัดแสงโดยตรง
2. วัดแสงแบบสะท้อน : คือแสง ไปสะท้อนวัตถุ แล้วค่อยมาที่อุปกรณ์สำหรับวัดแสง

การวัดแสงตกกระทบ
น่าจะมีเฉพาะ เครื่องวัดแสงแบบมือถือเท่านั้น
การวัดแสงแบบสะท้อน
กล้องถ่ายภาพทั่วไป ใช้ระบบนี้ แต่มีเทคโนโลยี เพื่อความแม่นยำ ต่างกัน

สังเกตุอย่างไร : แสงอาทิตย์ หรือแฟลช ไม่ได้วิ่งเข้ากล้องตรงๆ แต่ สะท้อนต้นไม้, หน้าคน, สิ่งของ(ขอเรียกว่าวัตถุ)  แล้วค่อยเข้ามาในกล้อง

ความแตกต่างของระบบวัดแสงทั้งสองอย่าง คือ การวัดแบบสะท้อน แสงต้องโดนวัตถุก่อน แล้วค่อยสะท้อนแสงเข้ากล้อง แต่วัตถุแต่ละชนิด สะท้อนไม่เท่ากัน จึงเป็นปัญหาขึ้น
ส่วนการวัดแสงแบบตกกระทบ แสงจะตกใส่อุปกรณ์วัดโดยตรง ทำให้แม่นยำกว่า แต่ว่า เราไม่สามารถ เดินไปวัดแสงที่ ยอดภูเขา โดยที่จะถ่ายภาพที่ตีนเขาได้  การวัดแสงแบบนี้ มักจะใช้กับพวกแสงแฟลชเสียมากกว่า

การที่กล้องวัดแสงแบบสะท้อน จึงมองทุกอย่างสะท้อนเท่ากับ สีเทากลาง เช่นวัดแสงวัตถุสีขาว มีการสะท้อนมาก กล้องไม่รู้จัก ก็จะถ่ายมาเป็นสีเทา ถ่ายสีดำ ก็เป็นสีเทา นั่นเพราะกล้องจะมองการสะท้อนเป็น เทาหมด เมื่อถ่ายวัตถุ ที่ขาวอยู่ในภาพมากๆ หรือดำในภาพมากๆ จึงต้องชดเชยแสง ตาม  สีขาวก็ชดเชยไปทาง +, ส่วนสีดำ ชดเชยไปทาง -

แต่วัตถุส่วนใหญ่ไม่ได้มีแต่ขาวกับดำนี่  นี่คือภาพ เปรียบเทียบเมื่อสีต่างๆ เป็นขาว-ดำ

ภาพสี
ถูกทำให้เป็นขาว-ดำ













จะเห็นว่าสีแดง ใกล้เคียง เทากลางที่สุด ส่วนสีเหลือง สว่างมากกว่าเทากลางเยอะ แท้จริงสีน้ำเงินก็จะเข้มกว่าเทากลาง แต่ภาพนี้ ปรับสีแต่ละสี ให้มันเห็นความต่างด้วยครับ 

ฉะนั้น ถ้าในภาพที่เราถ่าย มีสีเหลืองจำนวนมาก ก็เป็นไปได้ว่า ภาพที่ถ่ายมาจะมืดเกินไป ต้องปรับชดเชยไปทาง +

ส่วนภาพที่มีสีน้ำเงินมาก ก็เป็นไปได้ว่าจะสว่างมากเกินไป ต้องปรับชดเชยไปทางลบ - 

ซึ่งการวัดแสงกล้องแต่ละรุ่น ให้ศึกษาจากคู่มือเองนะครับ  เพราะมีทั้ง วัดแสงเฉพาะส่วน, เฉพาะจุด, เฉลี่ยทั้งภาพ, หนักกลาง ฯลฯ

ความหมายก็เหมือนกัน เพียงแต่ เพิ่มจุดในการวัดต่างๆไป เช่นหนักกลาง ก็ให้ความสำคัญกับกลางภาพ มากกว่า ส่วนเฉลี่ยทั้งภาพ ก็ใช้วัดทั้งเฟรมที่ถ่ายเลย แต่กล้องจะมีการคำนวณให้ค่าแสงแม่นยำที่สุด


และสถานการณ์ที่วัดแสงพลาดมากที่สุดเช่น ถ่ายย้อนแสง เช่นภาพถ่ายหน้าคน โดยมีพระอาทิตย์อยู่ด้านหลัง อย่างนี้ ย้อนแสงแน่ 
-ถ้าเราวัดแสงที่หน้าคน แสงที่หน้าก็จะพอดี แต่พระอาทิตย์ อาจจะสว่างเกินไป
-ถ้าเราวัดแสงที่ฉากหลังหรือพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ก็คงจะสวยดี แต่หน้าแบบจะมืด เพราะแสงต่างกันมากๆ  เป็นข้อจำกัดของกล้องถ่ายภาพ

กรณี อย่างนี้ ก็ต้องเลือกว่าอันไหนสำคัญกว่า แต่ถ้าต้องการทั้งสองอย่าง อาจจะใช้วิธีวัดแสงที่ฉากหลัง แล้วเพิ่มแสงแฟลช เพื่อให้หน้าคนสว่างเท่ากันพอดี


วันนี้ขอจบเท่านี้ก่อนนะครับ  มันจะยาวเกินไป อิอิ 

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

กื้อ รูปภาพ และการถ่ายภาพ

บล็อคนี้จะขอพูดถึง เทคนิคการถ่ายภาพต่างๆ ผมไม่ใช่มืออาชีพอะไร

แต่มีหลายคนไม่เข้าใจการถ่ายภาพ ก็เลยทำตรงนี้เพื่อการศึกษา จะนำความรู้ แนวคิด บทความ ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ เทคนิคการถ่ายภาพต่างๆ อุปกรณ์ที่ใช้ รูปภาพตัวอย่างสนุกๆ มาแสดงในบล็อคนี้

จะพยายามโพสต์สม่ำเสมอ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการสร้างบล็อค เกี่ยวกับเทคโนโลยีเว็บไซด์ โดยส่วนตัวของผมเองด้วย

หวังว่าทุกท่านจะสนุก แล้วพบกัน ^_^