ขับเคลื่อนโดย Blogger.

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หอยทาก



หอยทากจะพบแพร่หลายในช่วงฤดูฝน เพื่อออกหากินสะสมอาหารจำนวนมากและแพร่ขยายพันธุ์ ชอบออกหากินในเวลากลางคืน เวลากลางวันจะอาศัยที่ร่มหลบแสงแดด หอยทากมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เมื่ออายุได้ประมาณ 5 ถึง 8 เดือน ชอบวางไข่ตามซากกองใบไม้ ขอนไม้ที่ผุ หรือใต้ผิวดินที่ร่วนซุยและชื้น วางไข่เป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 200-300 ฟอง ตัวหนึ่งๆจะวางไข่ได้ปีละประมาณ 1,000 ฟอง เมื่อฟักออกเป็นตัวอ่อนแล้วเปอร์เซ็นรอดน้อยมาก หอยทากมีอายุยืนเฉลี่ยประมาณ 5 ปี
หอยที่การเคลื่อนที่ช้ามาก ถึงขนาดมีหอยทากแถวๆ ทะเลแดงเคลื่อนด้วยความเร็วประมาณ 600 เมตร ต่อ 26 ปี แต่หอยทากสามารถไม่กินอะไรเลยได้ 1 ปี
หอยทาก พบมีมากในไทยถึงประมาณ 600 ชนิด ทั่วโลก 50000 ชนิด !!!!
หอยทาก มีสองเพศในตัวเดียวกันนะครับ แต่ มันไม่สามารถผสมพันธ์ตัวเองได้ ต้องอาศัยหอยทากตัวอื่นอยู่ดีจ้า









บางชนิดนิยมนำมารับประทาน มีราคาสูงมากด้วย 
และนำมาเมือกของหอยทากมาใช้ในวงการเครื่องสำอางค์ด้วย อ้างว่าสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ และอื่นๆอีกมาก แต่ชาวเกษตรไม่ชอบ ต้องหาทางกำจัดมันเสมอ เพราะหอยทากจะกินใบของพืชผล, เป็นพาหะต่อพยาธิ

หอยทากจะกินอาหารแทบทุกชนิด เช่น ใบไม้ ต้นไม้ ซากใบไม้  ข้าว เศษอาหาร รวมถึงเชื้อราที่อยู่ตามซากใบไม้ทับถม ฯลฯ

หอยทากเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสงสารเหมือนกันนะครับ คนเห็นมันกินใบไม้ก็ฆ่ามันทิ้งอย่างเดียว ประโยชน์ต่อระบบนิเวศคือมันช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน

ภาพทั้งหมดถ่ายด้วยเลนส์มาโคร ยิงแฟลช ^_^

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

น้ำตกโยง

ได้มีโอกาสไป จ.นครศรีธรรมราช เลยได้แวะที่น้ำตกโยง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
น้ำตกโยง 

เลยนำภาพจากน้ำตกโยง มาฝาก นิดหน่อยครับ

น้ำตกโยง 2


น้ำตกโยง 3
เทคนิคการถ่ายภาพ 
- หามุมเหมาะๆ กางขาตั้งกล้องให้กว้างๆ ทั้งสองภาพบนคือ(น้ำตกโยง2 และ น้ำตกโยง3) เอาขาตั้งกล้อง แช่ลงไปในน้ำด้วยครับ ซึ่งอันตรายมาก อาจจะลื่น เราตก หรือกล้องตกน้ำได้
- ใช้ฟิลเตอร์ ND ติดที่หน้ากล้อง สองภาพนี้ใช้ ND เพื่อให้ภาพมืดลง ทำให้ต้องเปิด speed shutter เพิ่มขึ้น 3 Stop ใช้เวลาถ่ายภาพประมาณ 2 วินาที



ลาไปด้วย ภาพน้ำตกโยงครับ ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ สวัสดี



วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

การถ่ายภาพกลางคืน light paint 2

สวัสดีครับ วันนี้แสดงภาพ 1 ภาพ ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบ light paint นะครับ

Light paint
เทคนิควิธีการถ่ายภาพ : ปิดไฟให้มืด แล้ว shutter speed นานๆ ภาพนี้ที่ 30 วินาที และใช้ไฟฉายแบบยิงเลเซอร์ สำหรับใช้ในพรีเซนเตชั่น และทำการระบายลงไปที่โทรศัพท์

เท่านี้เองครับ ก็จะได้ภาพแหวกแนวแบบนี้ ลองดูนะครับ


ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพครับ Goodlight ^_^

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

Ayutthaya - Amazing

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

take a break with this

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพถ่ายเห็ด


เทคนิคการถ่ายภาพเห็ดแชมเปญ




เห็ดถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่น้อย เพราะเป็นตัวการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้เป็นปุ๋ยคืนสู่ดิน นอกจากนี้เห็ดยังเป็นความบันเทิงเล็กๆของคนเดินป่าอีกด้วย เพราะใครที่เข้าไปเที่ยวป่าโดยเฉพาะในหน้าฝน หากใช้สายตาสังเกตสอดส่องอาจมีโอกาสพบเห็นดอกเห็ดป่าขึ้นอวดโฉม อยู่ตามพื้นดิน ท่อนไม้ ขอนไม้ และที่ชื้นแฉะ
             
เห็ดป่ามีทั้งที่ ส่งกลิ่นหอม ส่งกลิ่นเหม็น และไม่ส่งกลิ่น ขณะที่รูปร่างของเห็ดป่านั้นก็มีหลากหลาย บางชนิดดูเหมือนเห็ดทั่วไป บางชนิดมีสีสันสวยงามแปลกตา บางชนิดดูไม่เหมือนเห็ด บางชนิดสีขาวจืดชืด บางชนิดสีคล้ำเขรอะไม่น่ามอง
              
เห็ดป่าหลายชนิด สำหรับผมถือเป็นงานศิลปะประดับป่าชั้นยอด อย่างจำพวก เห็ดขอนที่ขึ้นเรียงรายไล่ดอกจากเล็กไปหาใหญ่ เห็ดถ้วย-เห็ดแชมเปญ ที่แม้จะเล็กกระจิดริดแต่ให้สีส้มสดของมันช่างสะดุดตานัก เห็ดร่างแหที่สยายร่างเหมือนแหประดับพื้นดิน หรือจำพวกเห็ดที่ดูไม่เหมือนเห็ด แต่ดูเป็นรูปร่างอื่น อย่าง ตะกร้อ ปะการัง ไอศกรีม ดอกไม้ แท่งเทียน เป็นต้น
              
อย่างไรก็ตามบรรดาเห็ดป่าที่ให้สีสันสวยงามเหล่านั้น ส่วนใหญ่มักเป็นเห็ดมีพิษ ประเภทสวยแต่รูปจูบไม่ได้ เพราะถ้าใครขืนจูบจะโดนพิษของเห็ดทำอันตรายเข้าได้ หรือไม่ควรแม้แต่ที่จะไปจับ สัมผัส แตะต้องมันด้วยประการทั้งปวง ควรปล่อยให้มันอยู่ของมันไปตามธรรมชาติเป็นดีที่สุด
              
แต่กระนั้นก็ใช่ว่าเห็ดสีขาวจะกินได้เสมอไป เพราะเห็ดสีขาวบางชนิดมีพิษกินแล้วอาจตายได้ ในขณะที่เห็ดมีสีบางชนิดก็กินได้แถมอร่อยอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นวิธีการดูเห็ดว่ามีพิษหรือไม่จึงต้องรอบคอบระมัดระวังเป็นพิเศษ
              
เรียกได้ว่าสิ่งเล็กที่เรียกว่า“เห็ด”นี่คล้ายกับคนไม่น้อยเลย คือเดาได้ยากเต็มที บางคนดูดีสวยงามแต่แฝงไว้ด้วยความร้ายเหลือ ขณะที่บางคนดูเรียบง่ายใสซื่อแต่ก็แฝงไว้ด้วยความร้ายกาจเช่นกัน



การถ่ายภาพเห็ดแชมเปญ 


เห็ดชนิดนี้จะพบตามป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีความชื้นสูง ต้องกดดูดีๆ มีขนาดเล็ก เกาะตามขอนไม้







ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพนะครับ Goodlight ^_^

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาว2

จาก การถ่ายภาพเส้นแสงดาว ซึ่งผมได้เคยโพสไปแล้วนั้น

วันนี้จะแสดงภาพที่ถ่ายโดยหันมุมกล้องไปทางทิศเหนือ ให้เห็นดาวเหนือครับ

north star

ที่เห็นตรงกลางของเส้นกลมๆนั้นคือดาวเหนือครับ

ตำแหน่งสูงต่ำของดาวเหนือจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ละติจูด (Latitude) ในขณะนั้น ในกรุงเทพฯ ก็ประมาณ 13 องศา มันจึงอยู่สูงขึ้นไป 13 องศาครับ ถ้าถ่ายที่ขั้วโลกเหนือ ดาวเหนือจะอยู่บนศีรษะพอดีเลยครับ




ภาพนี้เปิดถ่ายภาพประมาณ 1 ชม.ครับ

วิธีใช้โปรแกรมStartrails

ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพนะครับ GoodLight ^_^ 

วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพถ่ายหน้าเบี้ยว 2

เฉลยภาพถ่ายหน้าเบี้ยวๆ

จาก
ภาพถ่ายหน้าเบี้ยวซึ่งได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้ สำหรับท่านที่ไม่รู้ ก็คงงง ว่าถ่ายยังไง

วันนี้จะมาเฉลยครับ
วิธีคือถ่ายด้วยความเร็วซัตเตอร์สูงหน่อยนึง 1/125 ขึ้นไป โดยประมาณ ในภาพนี้มืดนิดหน่อย จึงใช้แฟลชจากตัวกล้องช่วยด้วย

และทำการ สะบัดหน้าตัวเอง อย่างเร็วๆจังหวะนั้นก็กดชัตเตอร์ถ่ายภาพทันทีครับ ก็จะได้หน้าที่กำลังเบี้ยวๆ แปลกๆ อย่างนี้
ภาพถ่ายหน้าเบี้ยว  

จะเห็นว่าช่วงปาก กับฟัน ห่างกันมาก ซึ่งไม่สามารถทำได้ในสถานการณ์ปกติ หลายคนอาจจะคิดว่าใช้ photoshop ซึ่งไม่ใช่นะครับ













ภาพถ่ายประเภทนี้ก็จะได้ภาพหน้าบูดเบี้ยว บางครั้งก็คล้ายถูกชกบางครั้งก็ดูแปลกๆ ขึ้นอยู่กับจังหวะ

คำเตือน การถ่ายภาพแบบนี้มากๆอาจจะปวดหัวนิดหน่อยได้ จากการสะบัดศีรษะเยอะๆ ^_^


ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ  GoodLight.


วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพถ่ายหน้าเบี้ยว

วันนี้ขอโพสภาพถ่ายแปลกๆ 1 ภาพครับ


แล้วเดี๋ยวมาเฉลยว่าถ่ายอย่างไร   ลองเดากันดูครับ


เทคนิคการถ่ายภาพแปลกๆ


^_^

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

การวัดแสงธรรมดา - กับการใช้แฟลช

สวัสดีครับ วันนี้จะขอพูดถึงความแตกต่างของ การวัดแสงแบบธรรมดา กับ การใช้แฟลชครับ

บางท่านอาจจะเคยอ่านการวัดแสงมาบ้างแล้ว มีพูดถึงกันเยอะแยะ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง : ช่างมัน

แต่เมื่อท่านจะใช้แสงแฟลช ก็จะงง ว่าอะไรกัน ไม่เห็นเข้าใจ ผมพบปัญหานี้เยอะครับ และเป็นเรื่องที่รายละเอียดเยอะ  แต่จะขออธิบายง่ายๆให้เข้าใจกันนะครับ
การวัดแสงเมื่อถ่าย เวลาไม่ใช้แฟลช ก็คือ ดูค่าแสงณเวลานั้น บริเวณที่เราต้องการถ่ายภาพก็จะได้ ค่ามาสองค่า คือรูรับแสง(aperture value) กับ ความเร็วชัตเตอร์(speed shutter) ในกรณีที่ท่านเลือกโหมด M (Manual) เราก็เป็นคนกำหนดสองค่านั้นแล้ว ฉะนั้นกล้องจะบอกแค่ว่า มันพอดี หรือมืด หรือสว่างไป(under or over exposure), เมื่อท่านเลือกโหมต AV(canon) หรือ A(nikon) เราก็ควบคุม รูรับแสงอย่างเดียว  กล้องจะวัดแล้วปรับ ความเร็วชัตเตอร์ให้อัตโนมัติ ซึ่งเราสามารถปรับชดเชยแสงได้,
เมื่อท่านเลือกโหมด TV(canon) หรือ S(nikon) ท่านก็จะควบคุมความเร็วชัตเตอร์ แล้วกล้องจะปรับรูรับแสงให้อัตโนมัติ ซึ่งเราสามารถปรับชดเชยแสงได้  แค่นี้เองครับ หลักง่ายๆ

ต่อมาคือการใช้แฟลช

การใช้แฟลชพูดได้เลยว่าไม่เกี่ยวกับการวัดแสงโดยตรงนะครับ วัดแสงมันก็คือค่าแสงที่เข้ากล้องคือแสงธรรมชาติ หรือแสงต่อเนื่องในขณะนั้นนะครับ แต่แสงแฟลชต่างออกไปคนละเรื่องเลยครับ
กล่าวคือ แสงแฟลชจะมีสองระบบหลักๆ
1. TTL มีหลายแบบ ATTL, ETTL ฯลฯ มันคือการที่แสงแฟลชจะยิงไปที่วัตถุ แล้วเมื่อแสงแฟลชพอดีมันจะตัดไฟแฟลชทันที ซึ่งชื่อต่างๆ คือการที่เขาคิดวิธีให้การยิงแสงแฟลชแม่นที่สุด แต่ก็เป็นแสงแฟลชผ่านเข้ามาในกล้อง และตัดไฟแฟลชทิ้งเมื่อแสงพอดี เช่นกัน และเมื่อมีหลายยี่ห้อของกล้องและแฟลช จึงมีหลายชื่อ ต่างกันไป

2.แฟลชแบบปรับกำลังแฟลชเอง คือเอาเลือกปรับเองว่าจะแรง-อ่อนแค่ไหน ตัวแฟลชก็จะยิงเท่าที่เราตั้งตลอดเวลา ซึ่งต้องผ่านการคำนวณ ระยะ, ISO, ฯลฯ หรือลองดูแล้วก็เช็ค histogram เอาก็ได้ครับ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็นิยมแบบนี้มากขึ้น คือมั่วๆไปก่อน แล้วดูจาก LCD ในกล้อง เมื่อแสงพอดีแล้วก็ตั้งค่านี้ สะดวกรวดเร็วดี แต่ต้องเสียเวลากับการปรับแฟลชอยู่พักนึง

ฉะนั้นเมื่อเราดันเลือกโหมด AVหรือ S (หรืออื่นๆตามแต่ละยี่ห้อ) ถ้าถ่ายตอนกลางวัน มันก็สว่างดี ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วพอภาพจะคมชัดได้  แต่ถ้าเราถ่ายในที่มืดๆล่ะครับ  - แน่นอนว่า มันก็จะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ เพราะมันวัดจากแสงธรรมชาติ (แสงแฟลชจะยิงมาแค่แว๊บเดียว และไม่ได้ยิงตอนเราวัดแสง)เมื่อถ่ายภาพ แสงที่ได้อาจจะพอดี สว่างเหมือนกลางวัน แสงแฟลชก็ยิงไปพอดี แต่ภาพไม่ชัด เพราะความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำไงล่ะครับ

เพื่อเสริมความเข้าใจมากขึ้น ถ้าเราถ่ายภาพคนที่อยู่ในที่ร่ม เช่นใต้ตึก แต่ข้างหลังเป็นแดดจ้านอกอาคาร อย่างนี้ หมายความว่าแสงที่ฉากหลัง จะสว่างมาก แต่แสงคนที่อยู่ใต้ตึกจะมืดกว่ามาก ถ้าเราถ่ายโดยวัดแสงที่ฉากหลัง ฉากหลังก็จะสวยงามพอดี แต่หน้าคนจะมืด
แต่ถ้าเราถ่ายโดยวัดแสงที่หน้าคน หน้าคนจะสว่างถูกต้อง แต่ฉากหลังก็จะสว่างขาวโพลน แต่ถ้าท่านต้องการให้แสงพอดี ทั้งข้างหน้า และข้างหลัง ทำอย่างไรล่ะครับ :)

ก็ต้องวัดแสงที่ฉากหลัง แล้วจำค่านั้น หรือล็อคค่าไว้(อ่านวิธีในคู่มือกล้องของท่าน) จากนั้นใช้แฟลชยิงที่หน้าคนให้ได้แฟลชพอดี อย่างนี้ก็จะได้แสงที่พอดีทั้งฉากหน้า และฉากหลัง

แต่ถ้าต้องการ ฉากหลังมืดกว่าตัวแบบ ก็ต้องวัดที่ฉากหลังอีกเช่นกัน แล้วชดเชยแสงให้ under (-1,-2,-3,ฯ) แต่แสงแฟลชยิงพอดี ฉากหลังก็จะมืดกว่าตัวคนแล้วครับ

แต่ถ้าต้องการฉากหลังสว่างกว่า ก็ดูหน้า ฉากหลังกับตัวคนอันไหนสว่างกว่ากัน ถ้าฉากหลังสว่างกว่าอยู่แล้ว ก็แทบไม่ต้องทำไร ใช้วัดที่หน้าคนเลยก็ได้ หรือวัดแสงที่ฉากหลังแล้วปรับ over(+1,+2,+3,ฯ) ส่วนแสงแฟลชปรับให้พอดี เท่านั้นเองครับ


ปัญหาต่อมาคือ ทำไมแฟลชมีปรับชดเชยแสงด้วย จำเรื่อง TTL ได้ไหมครับ ที่แสงจะกระทบแล้วเข้ามาที่กล้องแล้วก็ตัดแสงทิ้ง   ฉะนั้น เมื่อแฟลชมันไปยิงใส่เสื้อสีดำ การสะท้อนแสงก็ย่อมน้อยผิดปกติอยู่แล้ว กว่าแสงแฟลชจะตัด ก็ทำให้ภาพออกมา แสงแฟลชมัน ก็จะ over ไงครับ ฉะนั้น จึงต้องปรับไปทาง under (-1,-2,-3,ฯ)

ภาพนี้ไม่ได้เปิดแฟลช
ภาพนี้เปิดแฟลช

จากภาพตัวอย่างทั้งสองภาพ จะเห็นว่าภาพฉากหลัง หรือท้องฟ้าจะใกล้เคียงกันมาก เพราะใช้ค่าแสงที่วัดเท่าๆกัน แต่ภาพล่างเปิดแฟลชยิงไปที่เรือด้วย ทำให้เห็นเรือสว่างกว่า และฉากท้องฟ้าด้านหลัง ก็ยังคงสว่างเช่นเดียวกันครับ




ตอนแรกคิดว่าจะพิมพ์แค่สั้นๆ เอาเข้าจริงๆ ก็ต้องอธิบายยาว หวังว่าจะเข้าใจกันนะครับ

แดดร้อนรักษาสุขภาพ มีความสุขกับการถ่ายภาพ และคอมเม้นท์กันบ้างนะครับ

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพกลางคืนในรถ

สวัสดีครับ วันนี้จะโชว์รูปภาพที่ถ่ายกลางคืนในรถยนต์นะครับ   ก็จะได้ภาพที่แปลกตา เช่นนี้


ภาพถ่ายกลางคืนในรถ 1

แปลกๆตาดีไหมครับ หุหุ ลองดูอีกภาพ


ภาพถ่ายลักษณะนี้ ตัวรถจะชัดดี แต่นอกรถจะเป็นเส้นๆ แปลกตา เทคนิคการถ่ายภาพก็ง่ายๆครับ วางขาตั้งกล้องในรถ ยึดให้มั่นคงตั้ง ISO ต่ำไว้ สองภาพนี้ถ่ายด้วย ISO 100 วัดแสง แบบเฉลี่ยทั้งภาพ เสียบสายลั่นชัตเตอร์ แบบตั้งโปรแกรมได้ ก็ตั้งเวลาหน่วงไว้ แล้วก็เริ่มขับรถเลยครับ ภาพนี้ใช้ speed shutter ประมาณ 20-30 วินาที ก็จะได้ภาพสีสรรค์ แปลกตาอย่างนี้

ข้อควรระวัง ตั้งกล้องให้มั่นคงนะครับ เพราะรถต้องเคลื่อนไปตลอด อาจจะหล่นร่วงเกิดความเสียหายได้ และถ้าไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ ตั้งโปรแกรมต่างๆให้เรียบร้อยก่อนออกรถ ปรับโฟกัสให้เรียบร้อยก่อน แล้วจังหวะกดให้มั่นใจว่าปลอดภัยนะครับ ไม่เช่นนั้นจังหวะ เอื้อมไปกด อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ 

หวังว่าจะสนุกกับการถ่ายภาพ สวัสดี

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

การถ่ายภาพกลางคืน light paint

การถ่ายภาพกลางคืน มีด้วยกันหลายเทคนิค ที่จะสร้างสรรค์ภาพให้ดูน่าสนใจ

ภาพถ่ายกลางคืน
ภาพนี้ถ่ายเวลากลางคืน แทบจะมืดสนิท เป็นเครื่องลับใบมีด โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Light painting

โดยการใช้ไฟฉาย ฉายส่องไปที่วัตถุที่เราต้องการ เพื่อเพิ่ม รายละเอียดส่วนที่มืดให้สว่างขึ้นมาในภาพนะครับ







อุปกรณ์ที่ใช้


  • ขาตั้งกล้อง หรือถุงทราย อะไรก็ได้ วางให้มั่นคง
  • คนช่วยกด หรือสายลั่นชัตเตอร์ สำหรับ กดชัตเตอร์นานๆ (หรือชัตเตอร์B) 
  • ไฟฉาย
  • กระดาษแก้ว หรือกระดาษสี สำหรับเพิ่มสีสรรค์ให้ภาพโดยไม่ต้องใช้ photoshop
ภาพนี้มืดมาก แทบ
วัดแสงไม่ได้จริงๆ  วัดได้ก็เวลา นานมาก ก็ใช้กะเวลาว่าเราจะวาดแสงด้วยไฟฉาย ครบทั้งภาพที่ต้องการ ในเวลาประมาณเท่าไร
ลองฉายไฟฉายเพิ่มหาโฟกัส ปรับเป็นแบบ แมนน่วล (manual focus) เพราะระบบออโต้โฟกัสจะหาโฟกัสไม่เจอ เมื่อได้โฟกัส ลองถ่าย แบบ iso สูงๆ ซัก 2-3 ภาพ เพื่อดูภาพเบื้องต้น ดู composition ของภาพ

จากนั้นทำการถ่ายภาพ แล้วก็เริ่มใช้ไฟฉาย ฉายๆไปเรื่อยๆ  ภาพนี้ผมใช้กระดาษแก้วปิดที่หน้าไฟฉายด้วย เพื่อให้มีสีๆ อย่างที่เห็นในภาพนี้ครับ
ส่วนเวลาว่าจะฉายไฟฉายนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความแรงของไฟฉาย ระยะห่าง ซึ่งคำนวณได้ยาก ใช้ประสบการณ์เลยดีกว่าครับ

ลองถ่ายดู และหวังว่าจะสนุกกับมัน


แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาพแสงไฟกลางคืน ตัวอย่างภาพจากวัดอรุณฯ




ภาพนี้ถ่ายเวลากลางคืน แสงจะน้อยมาก หยิบขึ้นมา อาจจะรู้สึกว่า วัดแสงไม่ได้ ผมใช้วิธีปรับ ISO ให้สูงๆไว้ เมื่อตั้ง ISO สูงๆ ก็จะสามารถวัดแสงได้ แต่ภาพนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ มืด แสงน้อยมาก(มีจะถ่ายให้เหมือนตอนกลางวันก็ทำได้) จึงต้องเลือกโหมดวัดแสงแบบเฉพาะจุด(ศึกษาจากคู่มือกล้องของท่าน)
แล้ววัดไปที่พระปรางค์เพราะส่วนนี้สำคัญที่สุด

เมื่อได้ค่าแสงออกมาแล้ว จำค่านั้นไว้ แล้วปรับ ISO ลง เพื่อลด noise ให้น้อยที่สุด ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนวัดแสงไม่ได้เหมือนเดิม เพราะ shutter speed จะเกิน 30 วินาที

ตรงนี้คือเทคนิคนึง ที่ให้จำค่าเดิมไว้ แล้วปรับจาก ISO สูงๆ ลงมา ISO ต่ำๆ เหลือเป็นกี่ STOP  (ไม่เข้าใจ ก็ใช้วิธี นับปุ่มเวลาเราปรับก็ได้ครับ บางรุ่นปรับ2 ครั้งคือ 1 STOP บางรุ่นปรับ 3 ครั้ง) โดยดูจากขีดที่บอกการชดเชยแสงก็ได้ครับ เมื่อได้จำนวน STOP แล้วเช่น 4 STOP ที่ Speed shutter 20 วินาที เป็นต้น

เมื่อเป็น 4 STOP ให้ คูณ 16 หรือ นำค่าเดิม คูณ 2 = 1 STOP
ในที่นี้ 40 วินาที คือ 1 STOP ที่ต้องรับแสงเพิ่มขึ้นจากการปรับ ISO ให้ต่ำลง
40 x 2 = 80 วินาที เป็น 2 STOP
80 x 2 = 160 วินาที เป็น 3 STOP
160 x2 = 320 วินาที เป็น 4 STOP

หรือนำสูตร 2 ยกกำลัง stop ได้ค่าเท่าไร เอาไปคูณเวลาเดิมครับ เช่น
4 STOP = 2 ยกกำลัง 4 = 16 นำ 16 x 20 ได้เท่ากับ 320 วินาที
3 STOP = 2 ยกกำลัง 3 = 8 นำ 8 x 20 ได้เท่ากับ 160 วินาที

ความจริงมันมีสูตรคำนวณเวลามากมายครับ แต่ใช้วิธีนี้ก็ได้ ง่ายกว่า สำหรับแสงน้อยๆ ผิดไม่กี่วินาที ไม่ต่างกันเท่าไร แต่หากเป็นเวลากลางวัน เราจะถ่ายที่ เสี้ยวของวินาที เช่น 1/250 วินาที เป็นต้น อันนั้นจะต่างกันมาก แต่อันนี้ หากมัวตบยุง หรือเล่น facebook มากดปิดที่ 330 วินาที หรือค่าอื่นๆ ก็ยังไม่มีปัญหาครับ

ส่วนค่ารูรับแสง (F/8, F/11) ก็เหมือนกันครับ ตอนแสงน้อย ปรับกว้างๆก่อนก็ได้ ให้วัดแสงได้ก่อน แล้วค่อยปรับอีกครั้ง ตามที่ต้องการ แล้วก็ดูว่าปรับจากเดิมกี่ STOP

ความจริงภาพนี้ แสงท้องฟ้า กับตัวพระปรางค์ต่างกันหลาย STOP น่าจะถ่าย 2-3 ภาพ แล้วใช้โปรแกรมในการรวมภาพอีกที ก็จะสวยกว่านี้ครับ จะได้ทั้ง พระปรางค์ และท้องฟ้าที่สวยงาม ส่วนทางขวามือ คือเรือที่วิ่งผ่านมาเข้าเฟรมพอดีครับ


วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

ว่าด้วยเรื่องการวัดแสงสำหรับถ่ายภาพ




พื้นฐานการถ่ายภาพที่สำคัญ - การวัดแสง

ถึงบอกว่าสำคัญ แต่หลายท่านที่ถ่ายภาพ และคิดว่าตัวเองถ่ายเป็น ที่ผมพบหลายๆคน และยังรับงานถ่ายภาพ เพื่อหารายได้ ก็ยังวัดแสงไม่เป็น 0_0  แต่ที่ถ่ายได้ เพราะ กล้องถ่ายภาพ ยิ่งทันสมัย ยิ่งราคาแพง ก็ยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้วัดแสงได้แม่นยำมากขึ้น  จนแทบไม่ต้องปรับอะไร

งั้นทำไมถึงบอกว่าสำคัญ เพราะบางสภาพแสง จะพบคนพวกนี้ ถ่ายอย่างไร ก็ไม่ได้ภาพที่ดี เพราะไม่เข้าใจเรื่องการวัดแสง เพื่อผมบางคนใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพ ราคาประมาณ2แสนบาท แต่พอไปเที่ยวด้วยกัน เขาถ่ายไม่ได้ภาพเลย จนต้องมาถามผม นี่ก็เพราะ ไม่เข้าใจวิธีวัดแสง 

ถ้าแสงธรรมดา เช่น ไม่ย้อนแสง แสงอาทิตย์ อยู่ด้านหลัง วัตถุที่ถ่าย ไม่มีอะไรพิเศษ* ก็คงถ่ายได้ โดยไม่ต้องปรับตั้งค่าอะไร แต่นอกเหนือจากที่บอก ก็คงเห็นความแตกต่าง ของคนเข้าใจการวัดแสง และไม่เข้าใจ รวมถึงเวลาที่ต้องเสียไป กับภาพที่ถ่ายใน shot แรกๆ แล้วไม่ได้อย่างที่ต้องการ ต้องมาปรับๆๆอีก

การวัดแสง มี 2 แบบ 
1. วัดแสงตกกระทบ : คือแสง ตกที่อุปกรณ์ สำหรับวัดแสงโดยตรง
2. วัดแสงแบบสะท้อน : คือแสง ไปสะท้อนวัตถุ แล้วค่อยมาที่อุปกรณ์สำหรับวัดแสง

การวัดแสงตกกระทบ
น่าจะมีเฉพาะ เครื่องวัดแสงแบบมือถือเท่านั้น
การวัดแสงแบบสะท้อน
กล้องถ่ายภาพทั่วไป ใช้ระบบนี้ แต่มีเทคโนโลยี เพื่อความแม่นยำ ต่างกัน

สังเกตุอย่างไร : แสงอาทิตย์ หรือแฟลช ไม่ได้วิ่งเข้ากล้องตรงๆ แต่ สะท้อนต้นไม้, หน้าคน, สิ่งของ(ขอเรียกว่าวัตถุ)  แล้วค่อยเข้ามาในกล้อง

ความแตกต่างของระบบวัดแสงทั้งสองอย่าง คือ การวัดแบบสะท้อน แสงต้องโดนวัตถุก่อน แล้วค่อยสะท้อนแสงเข้ากล้อง แต่วัตถุแต่ละชนิด สะท้อนไม่เท่ากัน จึงเป็นปัญหาขึ้น
ส่วนการวัดแสงแบบตกกระทบ แสงจะตกใส่อุปกรณ์วัดโดยตรง ทำให้แม่นยำกว่า แต่ว่า เราไม่สามารถ เดินไปวัดแสงที่ ยอดภูเขา โดยที่จะถ่ายภาพที่ตีนเขาได้  การวัดแสงแบบนี้ มักจะใช้กับพวกแสงแฟลชเสียมากกว่า

การที่กล้องวัดแสงแบบสะท้อน จึงมองทุกอย่างสะท้อนเท่ากับ สีเทากลาง เช่นวัดแสงวัตถุสีขาว มีการสะท้อนมาก กล้องไม่รู้จัก ก็จะถ่ายมาเป็นสีเทา ถ่ายสีดำ ก็เป็นสีเทา นั่นเพราะกล้องจะมองการสะท้อนเป็น เทาหมด เมื่อถ่ายวัตถุ ที่ขาวอยู่ในภาพมากๆ หรือดำในภาพมากๆ จึงต้องชดเชยแสง ตาม  สีขาวก็ชดเชยไปทาง +, ส่วนสีดำ ชดเชยไปทาง -

แต่วัตถุส่วนใหญ่ไม่ได้มีแต่ขาวกับดำนี่  นี่คือภาพ เปรียบเทียบเมื่อสีต่างๆ เป็นขาว-ดำ

ภาพสี
ถูกทำให้เป็นขาว-ดำ













จะเห็นว่าสีแดง ใกล้เคียง เทากลางที่สุด ส่วนสีเหลือง สว่างมากกว่าเทากลางเยอะ แท้จริงสีน้ำเงินก็จะเข้มกว่าเทากลาง แต่ภาพนี้ ปรับสีแต่ละสี ให้มันเห็นความต่างด้วยครับ 

ฉะนั้น ถ้าในภาพที่เราถ่าย มีสีเหลืองจำนวนมาก ก็เป็นไปได้ว่า ภาพที่ถ่ายมาจะมืดเกินไป ต้องปรับชดเชยไปทาง +

ส่วนภาพที่มีสีน้ำเงินมาก ก็เป็นไปได้ว่าจะสว่างมากเกินไป ต้องปรับชดเชยไปทางลบ - 

ซึ่งการวัดแสงกล้องแต่ละรุ่น ให้ศึกษาจากคู่มือเองนะครับ  เพราะมีทั้ง วัดแสงเฉพาะส่วน, เฉพาะจุด, เฉลี่ยทั้งภาพ, หนักกลาง ฯลฯ

ความหมายก็เหมือนกัน เพียงแต่ เพิ่มจุดในการวัดต่างๆไป เช่นหนักกลาง ก็ให้ความสำคัญกับกลางภาพ มากกว่า ส่วนเฉลี่ยทั้งภาพ ก็ใช้วัดทั้งเฟรมที่ถ่ายเลย แต่กล้องจะมีการคำนวณให้ค่าแสงแม่นยำที่สุด


และสถานการณ์ที่วัดแสงพลาดมากที่สุดเช่น ถ่ายย้อนแสง เช่นภาพถ่ายหน้าคน โดยมีพระอาทิตย์อยู่ด้านหลัง อย่างนี้ ย้อนแสงแน่ 
-ถ้าเราวัดแสงที่หน้าคน แสงที่หน้าก็จะพอดี แต่พระอาทิตย์ อาจจะสว่างเกินไป
-ถ้าเราวัดแสงที่ฉากหลังหรือพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ก็คงจะสวยดี แต่หน้าแบบจะมืด เพราะแสงต่างกันมากๆ  เป็นข้อจำกัดของกล้องถ่ายภาพ

กรณี อย่างนี้ ก็ต้องเลือกว่าอันไหนสำคัญกว่า แต่ถ้าต้องการทั้งสองอย่าง อาจจะใช้วิธีวัดแสงที่ฉากหลัง แล้วเพิ่มแสงแฟลช เพื่อให้หน้าคนสว่างเท่ากันพอดี


วันนี้ขอจบเท่านี้ก่อนนะครับ  มันจะยาวเกินไป อิอิ 

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

กื้อ รูปภาพ และการถ่ายภาพ

บล็อคนี้จะขอพูดถึง เทคนิคการถ่ายภาพต่างๆ ผมไม่ใช่มืออาชีพอะไร

แต่มีหลายคนไม่เข้าใจการถ่ายภาพ ก็เลยทำตรงนี้เพื่อการศึกษา จะนำความรู้ แนวคิด บทความ ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ เทคนิคการถ่ายภาพต่างๆ อุปกรณ์ที่ใช้ รูปภาพตัวอย่างสนุกๆ มาแสดงในบล็อคนี้

จะพยายามโพสต์สม่ำเสมอ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการสร้างบล็อค เกี่ยวกับเทคโนโลยีเว็บไซด์ โดยส่วนตัวของผมเองด้วย

หวังว่าทุกท่านจะสนุก แล้วพบกัน ^_^